คุณสมบัติของอุบาสกอุบาสิกา ๑๐ ประการ

คุณสมบัติของอุบาสกอุบาสิกา  ๑๐  ประการ

         ๑. เป็นผู้มีความเคารพ  เชื่อมั่นในพระพุทธ  พระธรรม  พระสงฆ์

         ๒. เป็นผู้ที่ปฏิบัติอุปัฏฐาก ภิกษุ สามเณร ด้วยความเคารพ

         ๓. เป็นผู้มีกาย  วาจา  ใจ  อันสงบ  สำรวม  เรียบร้อยดี

         ๔. เป็นผู้มีความละอาย  กลัวต่อบาปกรรมทุกชนิด

         ๕. เป็นผู้หมั่นสมาทานรักษาศีลโดยเคร่งครัด

         ๖. เป็นผู้มีความซื่อสัตย์ต่อตนเองและผู้อื่น  ไม่หน้าไหว้หลังหลอก

         ๗. เป็นผู้หมั่นสาธยายมนต์  ให้คล่องแคล่วชำนาญ

         ๘. เป็นผู้มีความเสียสละบริจาคทาน  ในพระพุทธศาสนา

         ๙. เป็นผู้หมั่น  ในการเจริญ  สมาธิ  ภาวนา

         ๑๐. เป็นผู้มีปัญญาสอดส่องธรรม และใคร่ครวญในธรรม

         คุณสมบัติ ๑๐ ประการที่กล่าวมาแล้วข้างต้นนั้น  คือ  เนื้อแท้ของบุคคลที่เรียกว่า    อุบาสก อุบาสิกา

หน้าที่ของอุบาสกอุบาสิกา

        ๑. เกื้อกูลพระ โดยปฏิบัติต่อพระสงฆ์ เสมือนทิศเบื้องบน

             ๑.๑ จะทำสิ่งใด ก็ทำด้วยเมตตา

             ๑.๒ จะพูดสิ่งใด ก็พูดด้วยเมตตา

             ๑.๓ จะคิดสิ่งใด ก็คิดด้วยเมตตา

             ๑.๔ ต้อนรับด้วยความเต็มใจ

             ๑.๕ อุปถัมภ์ด้วยปัจจัย ๔ (อาหาร ยารักษาโรค ที่อยู่อาศัย          เครื่องนุ่งห่ม)

         ๒. กระทำบุญ

             ๑) ทานมัย ทำบุญด้วยการให้ แบ่งปันทรัพย์สิ่งของ

             ๒) สีลมัย ทำบุญด้วยการรักษาศีล หรือประพฤติดีปฏิบัติชอบ

             ๓) ภาวนามัย ทำบุญด้วยการเจริญภาวนา ฝึกอบรมจิตให้เกิดสมาธิ ปัญญา (ความเห็นที่ถูกต้อง) และควรเจาะจงทำบุญบางอย่างที่เป็นส่วนรายละเอียดเพิ่มขึ้นอีก ๗ ข้อคือ

             ๔) อปจายนมัย ทำบุญด้วยการประพฤติสุภาพอ่อนน้อม

             ๕) ไวยาวัจมัย ทำบุญด้วยการช่วยขวนขวายรับใช้ให้บริการบำเพ็ญประโยชน์        

             ๖) ปัตติทานมัย ทำบุญด้วยการให้ผู้อื่นมีส่วนร่วมในการทำความดี

             ๗) ปัตตานุโมทนามัย ทำบุญด้วยการพลอยยินดีในการทำความดีของผู้อื่น

             ๘) ธัมมัสสวนมัย   ทำบุญด้วยการฟังธรรม ศึกษาความรู้ที่ปราศจากโทษ

             ๙) ธัมมเทสนามัย ทำบุญด้วยการสั่งสอนธรรมให้ความรู้ที่เป็นประโยชน์

             ๑๐) ทิฏฐุชุกัมม์ ทำบุญด้วยการทำความเห็นให้ถูกต้อง รู้จักมองสิ่งทั้งหลายตามเป็นจริงให้เป็นสัมมาทิฏฐิ

         ๓. อุบาสกอุบาสิกาชั้นนำ

             ๑) มีศรัทธา เชื่ออย่างมีเหตุผล มั่นในคุณพระรัตนตรัย

             ๒) มีศีล อย่างน้อยดำรงตนได้ในศีล ๕

             ๓) ไม่ถือมงคลตื่นข่าว เชื่อกรรม ไม่เชื่อมงคล มุ่งหวังผลจากการกระทำ มิใช่จากโชคลาง หรือสิ่งที่ตื่นกันไปว่าขลัง ศักดิ์สิทธิ์

             ๔) ไม่แสวงหาทักขิไณยนอกหลักคำสอนนี้

             ๕) เอาใจใส่ ทำนุบำรุงและช่วยกิจการพระพุทธศาสนา

อุบาสกธรรม  ๗

         อุบาสกธรรม  หมายถึง  ธรรมที่เป็นไปเพื่อความเจริญของอุบาสก         มี ๗ ประการ  คือ

         ๑. ไม่ขาดการเยี่ยมเยือนพบปะพระภิกษุ

         ๒. ไม่ละเลยการฟังธรรม

         ๓. ศึกษาในอธิศีล คือฝึกอบรมตนในการปฏิบัติรักษาศีลขั้นสูงขึ้นไป

         ๔. พรั่งพร้อมด้วยความเลื่อมใส ในพระภิกษุทั้งหลาย

         ๕. ฟังธรรมโดยมิใช่จะตั้งใจคอยจ้องจับผิด หรือหาช่องทางที่จะติเตียน

         ๖. ไม่แสวงหาทักขิไณยนอกหลักคำสอนนี้ คือ ไม่แสดงหาเขตบุญนอกหลักพระพุทธศาสนา หรือไม่ทำบุญกับบุคคลนอกศาสนา

         ๗. กระทำความสนับสนุนในพระศาสนานี้เป็นเบื้องต้น คือ ช่วยทำนุบำรุงและช่วยกิจการพระพุทธศาสนา