วิธีเจริญอนิมิตตะเจโตสมาธิ

วิธีเจริญอนิมิตตะเจโตสมาธิ

         ๑. ไหว้พระ                         

         ๒. ตั้งนะโม  ๓  จบ

         ๓. ไตรสรณคม  พุทธัง  สะระณัง  คัจฉามิ ฯลฯ

         ๔. เจริญพุทธคุณ  ธรรมคุณ  สังฆคุณ  (อิติปิ  โส)  เป็นต้น

คำสมาทานพระกรรมฐาน

      อุกาสะ  อุกาสะ  ณ  โอกาสบัดนี้  ข้าพเจ้าขอสมาทานเอาซึ่ง        พระกรรมฐาน  ขอขณิกะสมาธิ  อุปจาระสมาธิ  อัปปนาสมาธิ  และวิปัสสนาญาณ  ขอจงบังเกิดขึ้น  ในขันธสันดานของข้าพเจ้า  ข้าพเจ้า        จะตั้งสติกำหนดไว้ ที่ลมหายใจเข้าออก ลมหายใจเข้ารู้  ลมหายใจออกรู้  สามหนและเจ็ดหน  ร้อยหนและพันหน  ด้วยความไม่ประมาท  ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ฯ

คำอธิฐานก่อนเจริญ  “อนิมิตตะเจโตสมาธิ”

      สาธุ สาธุ ขอให้สมาธิจิตของข้าพเจ้า ดับสนิทแน่นิ่งอยู่ใน “อนิมิตตะเจโตสมาธิ”  เป็นเวลา  ๑๕  นาที  พร้อมกันนี้  ขอให้โรคภัยไข้เจ็บ  ที่มีอยู่  เป็นอยู่  ในร่างกายนี้  หายไป ดับไป สิ้นไป สูญไป จากขันธสันดานของข้าพเจ้า อย่าได้กลับเกิดขึ้นมาอีก  และขอให้ข้าพเจ้าจงมี  อายุ              ยืนยาวนาน  ตลอดถึงกัปป์  หรือเกินกว่ากัปป์  ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป  เทอญ ฯ

คำบริกรรม

       นึกบริกรรมว่า  “จิตตัง  นิพพานัง  อะนิมิตตังๆ” เรื่อยไป  โดยเอาสติตั้งไว้ที่  ท้องพอง  ท้องยุบ  หรือ  ปลายจมูก  ก็ได้  ที่จิต  หรือ          ที่ทุกขเวทนา  ก็ได้  นึกบริกรรมภาวนาเรื่อยไปจนกว่า  จะขาดความรู้สึก  หรือได้เวลาที่อธิษฐานไว้ ฯ

       หมายเหตุ ถ้านั่ง  ๓๐  นาที, ๑  ชั่วโมง  หรือมากกว่านั้น  ขอให้อธิษฐานเพิ่มขึ้นตามต้องการ  ขอให้เพียรภาวนาทุกๆ วัน  ถ้านั่งลำบากให้นอนเอา  แล้วนึกบริกรรมภาวนาเรื่อยไปจนกว่าจะหลับ  รู้สึกตัวขึ้นมาให้ภาวนาต่อไปจนกว่าจะได้เวลาที่อธิษฐานเอาไว้ ฯ

หลักวิธีปฏิบัติที่จะทำให้เข้าสมาธิ  หรือเข้าฌานได้นานๆ   พึงปฏิบัติดังต่อไปนี้

         ๑. เมื่อโยคีผู้ปฏิบัติธรรมคนใดสามารถเข้าสมาธิ  หรือเข้าฌานได้ครบ  ๑  ชั่วโมงแล้ว  ถ้ามีความประสงค์จะฝึกเข้าฌาน  ให้จิตแช่อยู่ในอารมณ์ของเรือนแก้ว  คือฌานนั้นให้นานยิ่งๆ ขึ้นไป  เพื่อจะให้สำเร็จประโยชน์อันตนพึงประสงค์จากสมาธิ หรือฌาน เป็นต้นนั้น  ให้ฝึกเข้าสมาธิให้ได้  ๑  ชั่วโมง  เสียก่อน  แล้วฝึกให้ชำนิชำนาญจนสามารถเข้าได้ตามต้องการ  ออกได้ตามต้องการ  ไม่ให้ออกก่อน  และไม่ให้เลยเวลา และเมื่อสามารถทำได้ครบ ๑ ชั่วโมง  สมบูรณ์ดีอย่างนี้แล้ว       วันหลัง  (วันถัดมา)  ให้เดินจงกรมให้ครบ  ๑  ชั่วโมง  แล้วนั่งอธิษฐานจิต  ว่า  “สาธุ  สาธุ  สาธุ  ขอให้สมาธิจิตของข้าพเจ้าดับสนิทแน่นิ่งไป  ๒  ชั่วโมง”

         ๒. เมื่อสามารถทำได้ครบตามกำหนด  ๒  ชั่วโมง  สมบูรณ์ดีอย่างที่กล่าวมาในข้อ  ๑  แล้ว  ให้หล่อเลี้ยงสมาธิ  (รักษาสมาธิ)  ไว้  ๒  วัน  ด้วยการรักษาสติ  อารมณ์ไว้  โดยการกำหนดสติให้ทันปัจจุบันธรรม  ตัดอารมณ์ที่เป็นอดีต  และอนาคตทิ้ง  เรียกว่า  สำรวมอินทรีย์  และทำความเพียรตามปกติธรรมดา  เพียงแต่ไม่ให้อธิษฐาน

         ๓. เมื่อเลี้ยงสมาธิไว้ครบตามกำหนด  ๒  วันแล้ววันหลังให้เดินจงกรม  ๑  ชั่วโมง  แล้วนั่งอธิษฐานจิต  ว่า  “สาธุ  สาธุ  สาธุ  ขอให้สมาธิจิตของข้าพเจ้าดับสนิทแน่นิ่งไป  ๓  ชั่วโมง” 

         เมื่อสามารถทำได้ครบตามกำหนด  ๓  ชั่วโมงสมบูรณ์ดีแล้วให้หล่อเลี้ยงสมาธิไว้  ๔ วัน โดยรักษาสติอารมณ์ ปฏิบัติไปตามปกติธรรมดา เหมือน  ข้อ  ๒

         ๔. เมื่อเลี้ยงสมาธิไว้ครบตามกำหนด  ๔  วันสมบูรณ์ดีแล้วให้เริ่มปฏิบัติต่อได้  โดยเดินจงกรม  ๑  ชั่วโมง  แล้วนั่งอธิษฐานจิต  ว่า  “สาธุ  สาธุ  สาธุ  ขอให้สมาธิจิตของข้าพเจ้าดับสนิทแน่นิ่งไป   ๖  ชั่วโมง”  

         เมื่อสามารถทำได้ครบตามกำหนด  ๖  ชั่วโมงสมบูรณ์ดีแล้วให้หล่อเลี้ยงสมาธิไว้  ๕  วัน  โดยรักษาสติอารมณ์ไว้  ปฏิบัติไปตามปกติธรรมดา  เหมือน  ข้อ  ๒

         ๕. เมื่อเลี้ยงสมาธิไว้ครบตามกำหนด  ๕  วันสมบูรณ์ดีแล้วให้เริ่มปฏิบัติต่อได้  โดยเดินจงกรม  ๑  ชั่วโมง  แล้วนั่งอธิษฐานจิต  ว่า  “สาธุ  สาธุ สาธุ  ขอให้สมาธิจิตของข้าพเจ้าดับสนิทแน่นิ่งไป  ๑๒  ชั่วโมง” 

         เมื่อสามารถทำได้ครบตามกำหนด  ๑๒  ชั่วโมงสมบูรณ์ดีแล้วให้หล่อเลี้ยงสมาธิไว้  ๗  วัน  โดยรักษาสติอารมณ์ไว้  ปฏิบัติไปตามปกติธรรมดา  เหมือน  ข้อ  ๒

         ๖. เมื่อเลี้ยงสมาธิไว้ครบตามกำหนด  ๗  วันสมบูรณ์ดีแล้วให้เริ่มปฏิบัติต่อได้  โดยเดินจงกรม  ๑  ชั่วโมง  แล้วนั่งอธิษฐานจิต  ว่า  “สาธุ  สาธุ สาธุ  ขอให้สมาธิจิตของข้าพเจ้าดับสนิทแน่นิ่งไป  ๒๔  ชั่วโมง”  แล้วนั่งสมาธิไปจนครบ  ๒๔  ชั่วโมง

         เมื่อสามารถทำได้ครบตามกำหนด  ๒๔  ชั่วโมงสมบูรณ์ดีแล้วพยายามฝึกให้ชำนิชำนาญ  ให้เข้าได้ตามต้องการ  ออกได้ตามต้องการ  ไม่ให้ออกก่อน  และไม่ให้เลยเวลา  เมื่อทำบ่อยๆ จนชำนิชำนาญได้ที่แล้ว  นั่งเข้าสมาธิไป  ๒๔  ชั่วโมง  ก็เท่ากับเราเข้าสมาธิไปแค่  ๕  นาที  เมื่อชำนาญในการเข้า  การทรงอยู่ในสมาธิ  และการออกจากสมาธิสมบูรณ์ดีแล้ว  หากปรารถนาจะฝึกเข้าสมาธิ  ๓  วัน,  ๔  วัน,  ๕  วัน  หรือครบ  ๗  วัน  ก็ให้ปฏิบัติเหมือนดั่งที่กล่าวมาแล้ว  แต่ให้เลี้ยงสมาธิไว้ให้นานๆ หน่อย  คือ  ๑๕  วัน  หรือ  ๑  เดือน  พยายามหาเวลาอธิษฐานเข้าสมาธินานๆ ตามเวลาที่ตนต้องการสักครั้งหนึ่ง

        สมาธินี้ต้องฝึกเข้าบ่อยๆ ฝึกออกบ่อยๆ เพื่อให้ได้ความละเอียดอ่อนของสมาธิ  และความคล่องแคล่วชำนาญในวสีทั้ง  ๕   คือ  ชำนาญในการนึก  ชำนาญในการเข้า  ชำนาญในการอธิษฐาน  ชำนาญในการออก  ชำนาญในการพิจารณา  เมื่อสามารถทำได้อย่างที่กล่าวมาแล้วนี้  ก็จะเป็นเหตุให้จิตของผู้นั้นมีพลัง  มีอำนาจ  มีอานุภาพ  มีสมรรถนะสูง  พร้อมที่จะยังประโยชน์ ให้เกิดขึ้น  และใช้ให้สำเร็จประโยชน์ตามความประสงค์ที่ตนอธิษฐานจิตไว้  ตามเหตุตามปัจจัยแห่งกำลังสมาธิของตนๆ