มูลเหตุนะโม

มูลเหตุนะโม

       ดังจะนำคำอธิบายรายละเอียดในคำนมัสการ  นะโม  นี้จากคัมภีร์มหาวงศ์ อันพระอรรถกถาจารย์เจ้าทั้งหลาย ได้กล่าวไว้ดังต่อไปนี้

       พระบาลี นะโม  ตัสสะ  ภะคะวะโต  อะระหะโต  สัมมาสัมพุทธัสสะ  นี้จะเป็นบาลีนมัสการ เกิดแต่ปัญญาอาจารย์ตกแต่งเอามาตั้งไว้หามิได้  พระบาลีนี้เป็นพระพุทธฎีกา สมเด็จพระศรีสรรเพ็ชญ์          พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสพระธรรมเทศนาไว้ในพระจตุราคมนิกาย ว่า      นโม  สาตาคิรายกฺโข เป็นอาทิ  ซึ่งได้กล่าวนมัสการโถมนาซึ่งพระพุทธคุณ  พระอรหันต์เจ้าทั้งหลายจึงเอาบาลี  นะโม ฯลฯ นี้ขึ้นสู่สังคายนาถึง            ๓  ครั้ง  โบราณาจารย์ทั้งหลายเห็นว่ามิเป็นการเคลือบแคลงสงสัยแก่สัตว์โลกทั้งปวงแล้ว จึงเอามาตั้งไว้ในบุรพบทอันปรารถนาจะกระทำซึ่งพุทธกรรมวิธีทั้งหลาย (ศาสนพิธีแบบพุทธ) ดังเราท่านทราบอยู่เป็นอันดี

เทพเจ้ากล่าว

       นะโม  ตัสสะ  ภะคะวะโต  อะระหะโต  สัมมาสัมพุทธัสสะ  นี้ในเบื้องแรกนั้น  เทพเจ้าเป็นผู้กล่าวนมัสการพระพุทธองค์ก่อน  ดังพระองค์ตรัสเทศนาไว้ใน  พระจตุราคมนิกาย  ดังต่อไปนี้

       ๑.   ณ กาลสมัยหนึ่ง  พระสัมมาสัมพุทธเจ้าแห่งเรา เสด็จไปทรมานอารวกะยักษ์  แคว้นอาระวีนคร  ขณะที่พระองค์เสด็จไปประทับรออารวกะยักษ์อยู่ในวิมานนั้น อารวกะยักษ์ไปประชุมณ เทวสันนิบาตยังไม่กลับ        สาตาคิรายักษ์กับสหายเหมวะตายักษ์ออกจากวิมานแห่งตนแล้วเหาะไป เพื่อจะนมัสการพระองค์ที่พระเชตวันวิหาร ณ กรุงสาวัตถี  เมื่อไม่พบพระพุทธเจ้าจึงเหาะกลับมาทางวิมานของอารวกะยักษ์  ขณะที่เหาะข้ามวิมานของอารวกะยักษ์ซึ่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จประทับอยู่ภายในนั้น  ด้วยพุทธานุภาพ  สาตาคิรายักษ์กับเหมวตายักษ์ก็หมดกำลัง   ฤทธิและตกลง  เมื่อยักษ์ทั้ง  ๒  เห็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จประทับอยู่ในวิมานของอารวกะยักษ์นั้น  จึงประคองมือขึ้นนมัสการกล่าวว่า  นะโม  แปลว่า  ข้าพเจ้าขอถวายความนอบน้อม   เป็นคำรพแรกในสมัยพุทธกาล  อันเป็นที่มาของบท  นะโม

       ๒.    เมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเรา  เสด็จประทับอยู่ ณ เวฬุวันวิหาร  แขวงกรุงราชคฤห์  ครั้งนั้น  อสุรินทราหู  มหาอุปราชของท้าวเวปจิตติ  ในอสูรพิภพ ได้มานมัสการพระพุทธเจ้าและกล่าวว่า  ตัสสะ  แปลว่า  ผู้มีกิเลสอันสิ้นแล้ว  ดังนี้

       ๓.   เมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเรา  เสด็จประทับอยู่  ณ  ควงไม้ราชายตนะ  ในคราวที่พระองค์ได้ตรัสรู้พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณใหม่ๆ นั้น  ตะปุสสะกับภัลลิกะพานิชชาวเมืองสะเทิมได้น้อมนำข้าวสตุก้อนสตุผงเข้าไปถวาย  แล้วแสดงตนเป็นอุบาสกถึงรัตนะ ๒ คือพระพุทธ และ         พระธรรม  ครั้งนั้นท้าวจาตุมหาราชได้นำบาตรไปถวายพระพุทธองค์เพื่อเป็นภาชนะรับอาหาร  แล้วได้กล่าวนมัสการว่า  ภะคะวะโต  แปลว่า      พระผู้มีพระภาค

       ๔.   เมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเรา เสด็จประทับอยู่ในกุฎี  ณ  ป่าไม้สน ใกล้สาวัตถีนคร  พระองค์ทรงประชวรลงพระโลหิต  ท้าวสักกะเทวราชได้นำเอาผอบทองมารองรับพระบังคนแล้วยกขึ้นทูล    พระเศียรของพระองค์ไปเททิ้งในแม่น้ำ  พร้อมด้วยกล่าวนมัสการว่า อะระหะโต  แปลว่า  ผู้เป็นพระอรหันต์

       ๕.   ในคราวที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเรา ทรงเสด็จไปทรมาน    พกาพรหม  ผู้มีทิฏฐิเห็นผิดเป็นชอบโดยเห็นว่าตายแล้วสูญ  บาปบุญไม่มี       ท้าวมหาพรหมผู้เป็นใหญ่และสร้างโลกเป็นต้น  ณ  พรหมโลกครั้งนั้น       เมื่อพระองค์ทรงทรมานพกาพรหมด้วยวิธีเปลี่ยนกันซ่อนตัวและเที่ยวหา  พกาพรหมพ่ายแพ้และยอมฟังพระธรรมเทศนา  เมื่อเป็นสัมมาทิฏฐิเห็นชอบแล้วจึงกล่าวนมัสการว่า สัมมาสัมพุทธัสสะ  แปลว่า  ผู้ตรัสรู้เองโดยชอบ

       บทนมัสการทั้ง  ๕  ตอนนี้ แต่ละตอนเทพเจ้านำมากล่าวเริ่มแรก เป็นนมัสการต่างคราวต่างวาระกัน  สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสเทศนาไว้ในคัมภีร์จตุราคมนิกายดังกล่าวแล้ว  รวมความเป็น  นะโม  ตัสสะ  ภะคะวะโต  อะระหะโต  สัมมาสัมพุทธัสสะ  ซึ่งแปลสำนวนย่อว่า  ข้าพเจ้าขอถวายความนอบน้อม  แด่พระผู้มีพระภาคเจ้า  ผู้เป็น         พระอรหันต์ ไกลจากกิเลส  เป็นผู้ตรัสรู้เองโดยชอบพระองค์นั้น  ดังนี้ฯ

คาถาระบุผู้ตั้งนะโม

สาตาคิริ  นะโม  ยักโข               ตัสสะ  จะ  อะสุรินทะโก

ภะคะวะโต  มหาราชา               สักโก  อะระหะโต  ตะถา

สัมมาสัมพุทธัสสะ  พ๎รัหมา  จะ     เอเต  ปัญจะ  ปะติฏฐิตา ฯ

สาตาคิรายักษ์          นมัสการว่า     นะโม

อสุรินทราหู             นมัสการว่า     ตัสสะ

ท้าวจตุมหาราช         นมัสการว่า     ภะคะวะโต

ท้าวสักกะเทวราช      นมัสการว่า     อะระหะโต

ท้าวพกามหาพรหม     นมัสการว่า     สัมมาสัมพุทธัสสะ

       ทั้ง  ๕  นี้เป็นที่มาและมูลเหตุของนะโม  ฯลฯ  ซึ่งพระองค์ตรัสเทศนาไว้ในจตุรานิคมนิกายดังกล่าวแล้ว ฯ

บทนมัสการ

       นะโม  ตัสสะ  ภะคะวะโต  อะระหะโต  สัมมาสัมพุทธัสสะ

        ขอน้อบน้อมแด่พระผู้มีพระภาค  อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า           พระองค์นั้น ฯ

       บทนมัสการนี้  ประกอบด้วยบทที่เป็นคำบาลี  ๕  บท  มี  นะโม  เป็นต้น  นับเรียงพยางค์ได้  ๑๘  พยางค์  บท  ๓  บท  คือ  ภะคะวะโต  อะระหะโต  สัมมาสัมพุทธัสสะ  ประกาศพระคุณของพระพุทธเจ้า  ๓  ประการ คือ  พระมหากรุณาธิคุณ  พระบริสุทธิคุณ  และพระปัญญาคุณ  ตามลำดับ

ระเบียบในการตั้งบทนมัสการ

       การเปล่งวาจาว่าบทนมัสการ  ต้องว่า  ๓  จบเสมอ  มีเหตุผลดังนี้

       จบที่  ๑  เพื่อมัสการพระวิริยาธิกพุทธเจ้า  ซึ่งมีระยะเวลาบำเพ็ญ          พระบารมี  ๘๐  องสงไขย  ๑  แสนกัปป์  โดยแบ่งเป็น  ๓  กาลดังนี้

       ๑. มโนปณิธาน   คือ  นึกในใจว่าจะเป็นพระพุทธเจ้านานถึง 
๒๘  อสงไขย

       ๒. วจีปณิธาน  คือ   ออกปากปรารถนาเป็นพระพุทธเจ้านานถึง  ๓๖  อสงไขย

       ๓. นับตั้งแต่ได้รับพยากรณ์จากพระพุทธเจ้าแล้วจะต้องบำเพ็ญบารมีอีกนานถึง  ๑๖  อสงไขย  ๑  แสนกัปป์

       จบที่  ๒  เพื่อนมัสการพระสัทธาธิกพุทธเจ้า  ซึ่งมีระยะเวลาบำเพ็ญพระบารมี   ๔๐  อสงไขย  ๑  แสนกัปป์

       ๑. มโนปณิธาน     คือ    นึกในใจว่าจะเป็นพระพุทธเจ้านานถึง  ๑๔  อสงไขย

       ๒. วจีปณิธาน   คือ   ออกปากปรารถนาเป็นพระพุทธเจ้านานถึง  ๑๘  อสงไขย

       ๓. นับตั้งแต่ได้รับพยากรณ์จากพระพุทธเจ้าแล้วจะต้องบำเพ็ญบารมีอีกนานถึง  ๘  อสงไขย  ๑  แสนกัปป์

       จบที่  ๓  เพื่อนมัสการพระปัญญาธิกพุทธเจ้า  ซึ่งมีระยะเวลาบำเพ็ญพระบารมี  ๒๐  อสงไขย  ๑  แสนกัปป์

       ๑. มโนปณิธาน   คือ  นึกในใจว่าจะเป็นพระพุทธเจ้านานถึง 
๗  อสงไขย

       ๒. วจีปณิธาน  คือ   ออกปากปรารถนาเป็นพระพุทธเจ้านานถึง  ๙  อสงไขย

       ๓. นับตั้งแต่ได้รับพยากรณ์จากพระพุทธเจ้าแล้วจะต้องบำเพ็ญบารมีอีกนานถึง  ๔  อสงไขย  ๑  แสนกัปป์

วิธีตั้งบทนมัสการ  มี  ๔  แบบ

       ๑.  นะโม  ชั้นเดียว

       นะโม  ชั้นเดียว  ขึ้น  นะโม  แล้วรับ  ตัสสะ  ฯเปฯ  หยุดตามสังโยค  ใช้เป็นบทนมัสการในการสวดมาติกาบังสุกุล  ดังนี้

       (ขี้น)  นะโม – ตัส //

       (รับ)  สะ  ภะคะวะโต  อะระหะโต  สัมมาสัมพุท /  ธัส / สะ 

นะโม  ตัส / สะ  ภะคะวะโต  อะระหะโต  สัมมาสัมพุท / ธัส / สะ

นะโม  ตัส / สะ  ภะคะวะโต  อะระหะโต  สัมมาสัมพุท /  ธัส / สะ  ฯ

       ๒.  นะโม  สามชั้น

       เป็นบทนมัสการ  ใช้ในการให้ศีล  ว่าทีละบทๆ  ดังนี้

       นะโม  ตัสสะ  ภะคะวะโต  อะระหะโต  สัมมาสัมพุทธัสสะ //

       นะโม  ตัสสะ  ภะคะวะโต  อะระหะโต  สัมมาสัมพุทธัสสะ //

       นะโม  ตัสสะ  ภะคะวะโต  อะระหะโต  สัมมาสัมพุทธัสสะ // ฯ

       ๓.  นะโม  ห้าชั้น

       เป็นบทนมัสการ  ใช้ในการแสดงพระธรรมเทศนา  และใช้ในการสวดกรรมวาจา  (สวดญัตติ)  ดังนี้

       นะโม ตัสสะ  ภะคะวะโต  อะระหะโต  สัมมาสัมาพุทธัสสะ 
       นะโม  ตัสสะ //  ภะคะวะโต  อะระหะโต  สัมมาสัมพุทธัสสะ //
       นะโม  ตัสสะ ภะคะวะโต // อะระหะโต  สัมมา // สัมพุทธัสสะ // ฯ

๔.    นะโม  เก้าชั้น

       เป็นบทนมัสการ  ใช้ในการเจริญพระพุทธมนต์  ที่ใช้เป็นทำนองสังโยค  ดังนี้

       (ขึ้น)  นะโม  ตัสสะ  ภะคะวะโต //

       (รับ)  อะระหะโต / สัมมา / สัมพุท //  ธัส // สะ  นะโม  ตัส //  สะ  ภะคะวะโต / อะระหะโต / สัมมา / สัมพุท // ธัส // สะ  นะโม        ตัส // สะ  ภะคะวะโต / อะระหะโต / สัม / มาสัมพุท //  ธัส //  สะฯ