ไตรสรณะคมน์
ไตรสรณะคม แปลว่า ที่พึ่ง ๓ อย่าง คือ
๑. พุทธัง สะระณัง คัจฉามิ แปลว่า ข้าพเจ้าขอถึงพระพุทธเจ้าว่าเป็นที่พึ่งที่ระลึก
๒. ธัมมัง สะระณัง คัจฉามิ แปลว่า ข้าพเจ้าขอถึงพระธรรมเจ้าว่าเป็นที่พึ่งที่ระลึก
๓. สังฆัง สะระณัง คัจฉามิ แปลว่า ข้าพเจ้าขอถึงพระสงฆเจ้า ว่าเป็นที่พึ่งที่ระลึก
ไตรสรณะคมคือ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ นี้จะอุบัติมีขึ้นในโลกก็ต่อเมื่อพระพุทธเจ้าได้เสด็จมาอุบัติในโลก ไตรสรณะคมจึงได้มีเช่นทุกวันนี้ พระพุทธเจ้าแต่ละพระองค์สร้างบารมี ๑๐ ประการจนเต็ม ๒๐ อสงไขยบ้าง ๔๐ อสงไขยบ้าง ๘๐ อสงไขยบ้าง ตามประเภทบารมีบริบูรณ์แล้วเมื่อใดจึงจะได้มาตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า เมื่อนั้นไตรสรณะคมจึงมีขึ้นในโลก ไตรสรณะคมจึงนับเป็นของมีได้ยากอย่างยิ่ง
การสมาทาน
ผู้ใดประสงค์จะสมาทานไตรสรณะคมให้มีในตนนั้น ท่านว่าให้สมาทานเช่นสมาทานศีล ๕ ศีลอุโบสถ คือ ให้ตั้งเจตนาวิรัติด้วยดี กล่าวสมาทานไตรสรณะคมจนได้ยินด้วยตนเอง กระทำดังนั้นจึงชื่อว่าสำเร็จเป็นสมาทาน
อานิสงส์
ผู้สมาทานไตรสรณะคมนี้ชื่อว่าเป็นผู้มีไตรสรณะคมด้วยดี ผู้มี ไตรสรณะคมเป็นที่ถึงที่ระลึกอันมั่นคง สามารถยังผู้นั้นให้เกิดใน เทวโลกพ้นภาวะอันต่ำทราม ดังเช่นเอนกวรรณเทพบุตร ครั้งหนึ่งท่านได้เกิดในศาสนาของพระวิปัสสีสัมมาสัมพุทธเจ้า ระหว่างมีไตรสรณะคมท่านได้รักษาศีล ๕ และศีลอุโบสถ เป็นเหตุให้ท่านได้เกิดในเทวโลก กายของท่านทั้งเครื่องประดับกายของท่านก็ล้วนแต่ประเสริฐ แม้รังษีของท่านก็เป็นเลิศ ท้าวมฆวาฬผู้เป็นใหญ่ เมื่อเสด็จประพาสอุทยานคราใด ถ้าบังเอิญไปตรงกับเอนกวรรณเทพบุตรย่อมต้องหลีกเลี่ยงและเสด็จกลับทุกคราวไป อันบริวารก็ดี เครื่องประดับกายและรัศมีก็ดี ย่อมไม่เลอเลิศเยี่ยงเอนกวรรณเทพบุตรนั้น
ด้วยเหตุผลอันสืบเนื่องจากเมื่อท้าวมฆวาฬสร้างถนนหนทางและบริจาคทานเมื่อครั้งเป็นมฆมาณพนั้น โลกยังว่างจากพระพุทธศาสนา ไม่มีพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ บริวารเครื่องประดับและรัศมีจึงได้อับเฉาไม่เป็นที่เจริญใจ เป็นที่ขวยเขินแก่ตนยิ่งนัก แต่ขณะนี้ท้าวมฆวาฬคงจะเลิศเลอเทียบเทียมและเหนือกว่าเทพองค์อื่นๆ แล้วกระมัง ด้วยเมื่อครั้งพุทธกาล ท่านก็ได้เอาใจใส่ต่อการบำเพ็ญทานเป็นพิเศษได้สดับตรับฟังพระธรรมเทศนา และรับใช้ในพระพุทธเจ้าอย่างใกล้ชิดจนได้สำเร็จเป็นพระโสดาบันบุคคลไปแล้ว
ไตรสรณะคมขาด
ผู้ที่ถึงไตรสรณะคมแล้ว เมื่อจะกราบไหว้คารวะสิ่งใดหรือบุคคลใดอันนอกจากพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ท่านให้ระลึกถึงไตรสรณคมก่อน ไตรสรณะคมจึงไม่เศร้าหมอง ผู้ใดนับถือพระพุทธศาสนาต่อมาได้ละพระพุทธศาสนาไปเข้ารีตนับถือศาสนาอื่นใด อันไม่ใช่พระพุทธศาสนา ได้ชื่อว่าไตรสรณะคมได้ขาดสิ้นจากภาวะอันเลิศ ไปสู่ภาวะอันไม่เลิศเลอนั่นแล เหมือนหนึ่งสุนักขัตตภิกษุผู้ทิ้งบาตรจีวรไปสู่ลัทธินิครนเดียรถีย์ในกาลครั้งกระโน้นแล