วัตร
วัตร คือ ข้อปฏิบัติ หรือแบบอย่าง ที่ภิกษุควรกระทำให้เหมาะสมแก่กาลเทศะ เพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อยและความผาสุกแก่สถานที่ หรือบุคคลที่ตนเกี่ยวข้อง จำแนกไว้ ๓ ประเภทหลัก ๆ ดังนี้
๑. กิจวัตร
อุปัชฌายวัตร วัตรที่สัทธิวิหาริกต้องปฏิบัติต่ออุปัชฌาย์
- เอาใจใส่ในการอุปัฏฐากท่าน ในกิจทุกอย่าง
- หวังความศึกษาในท่าน
- ขวนขวายป้องกันหรือระงับเรื่องเสื่อมเสียอันจักมีแล้วแก่ท่าน
- รักษาน้ำใจของท่าน ทำการใดให้ขออนุญาตก่อน
- ให้ความเคารพในท่าน
- ไม่เที่ยวเตร่ตามอำเภอใจ ไปไหนบอกลาท่านก่อน
- เมื่อท่านอาพาธเอาใจใส่พยาบาลไม่ไปไหนเสีย
- พยาบาลจนกว่าจะหายหรือมรณภาพ
สัทธิวิหาริกวัตร วัตรที่อุปัชฌาย์พึงทำต่อสัทธิวิหาริก
- เอาธุระในการศึกษาของสัทธิวิหาริก
- สงเคราะห์ด้วยบริขารเครื่องใช้ ถ้าของตนไม่มีขวนขวายหา
- คอยระงับเรื่องเสื่อมเสียอันจักมีแล้วแก่สัทธิวิหาริก
- เมื่อสัทธิวิหาริกอาพาธ ทำการพยาบาล
วัตรที่อาจารย์และอันเตวาสิกต้องปฏิบัติต่อกันมีนัยเหมือนกันกับอุปัชฌายวัตรและสัทธิวิหาริกวัตร
อาคันตุกวัตร วัตรของภิกษุผู้เป็นแขก
- แสดงความเคารพต่อท่าน
- แสดงความเกรงใจเจ้าของถิ่น
- แสดงอาการสุภาพ
- แสดงอาการสนิทสนมกับเจ้าของถิ่น
- ประพฤติตามกฎกติกาของเจ้าของถิ่น
- ถือเสนาสนะแล้วอย่าดูดาย เอาใจใส่ปัดกวาดให้เรียบร้อย
อาวาสิกวัตร วัตรของภิกษุผู้เป็นเจ้าถิ่น
- เป็นผู้หนักในการปฏิสัณฐาน
- แสดงความนับถือแก่อาคันตุกะ เช่นปูอาสนะให้
- ทำปฏิสันถารโดยธรรม
- ถ้าอาคันตุกะมาเพื่อจะพักที่วัดพึงจัดแจงที่พักให้
คิลานุปัฏฐากวัตร วัตรของผู้พยาบาลไข้
- รู้จักประกอบเภสัช
- รู้จักของแสลงและไม่แสลง
- ไม่รังเกียจของโสโครก
- ไม่เป็นผู้มักได้
- เป็นผู้มีจิตเมตตา
คิลานกวัตร วัตรของผู้อาพาธ
- ดูแลรักษาตนดี ไม่ฉันของแสลง
- รู้จักประมาณในของที่ไม่แสลง
- ฉันยาโดยง่าย
- บอกอาการไข้ตามความเป็นจริง
- เป็นผู้อดทนต่อทุกขเวทนา
ปิณฑจาริกวัตร วัตรในการบิณฑบาต
- นุ่งห่มให้เรียบร้อยถูกต้อง
- ถือบาตรภายในจีวร
- สำรวมกิริยาให้เรียบร้อย (ตามเสขิยวัตร)
- กำหนดเส้นทางในการบิณฑบาต
- รู้ว่าเขาจะให้ รับบิณบาตด้วยอาการสำรวม
- รูปที่กลับถึงวัดก่อนให้จัดเตรียมที่ฉัน
ภัตตัคควัตร วัตรในการฉันในโรงอาหาร
- นุ่งห่มให้เรียบร้อยในบ้าน
- รู้จักอาสนะที่อันควรแก่ตน
- ห้ามนั่งทับสังฆาฏิในบ้าน
- ทายกถวายน้ำ โภชนะ รับโดยเอื้อเฟื้อ
- ภิกษุทั้งหลายยังไม่ได้รับโภชนะทั่วกัน พระเถระอย่าพึงฉัน เว้นแต่ที่อังคาส มีภิกษุมากแลเห็นไม่ทั่วกัน
- ฉันด้วยอาการเรียบร้อย
- รออิ่มพร้อมกัน
- ระวังไม่บ้วนปากล้างมือให้น้ำกระเซ็นถูกจีวรตนและภิกษุข้าง ๆ
- ฉันในที่อังคาสของทายก เสร็จแล้วอนุโมทนา
- เมื่อกลับอย่าเบียดเสียดกันออกมา
- ไม่เทน้ำล้างบาตรมีเมล็ดข้าวในบริเวณบ้าน
เสนาสนคาหาปกวัตร วัตรของภิกษุผู้แจกเสนาสนะ
- ไม่ควรย้ายภิกษุผู้แก่กว่า เพื่อจะให้แก่ภิกษุผู้อ่อนกว่าเข้าอยู่
- ไม่ควรย้ายภิกษุผู้อาพาธ (เว้นแต่เป็นโรคติดต่อกัน
- เช่นโรคเรื้อน)
- ไม่ควรย้ายภิกษุผู้รักษาคลังสงฆ์
- ไม่ควรย้ายภิกษุผู้เป็นพหูสูต
- ไม่ควรย้ายภิกษุผู้ทำการปฏิสังขรณ์เสนาสนะอันชำรุดให้คืนเป็นปกติ (หมายเอาย้ายจากเสนาสนะที่ดีไปอยู่เสนาสนะที่ไม่ดี)
เสนาสนคาหกวัตร วัตรของภิกษุผู้อยู่ในเสนาสนะ
- อย่าทำให้สกปรก
- ปัดกวาดหยากไย่ ฝุ่นละอองให้สะอาด
- ระวังอย่าทำของต่าง ๆ ชำรุด
- ดูแลรักษาของใช้ในเสนาสนะให้ดี
- จัดตั้งน้ำใช้ น้ำฉันให้พร้อม
- ของใช้ในเสนาสนะหนึ่ง อย่าเอาไปใช้ในที่อื่น
คมิกวัตร วัตรของภิกษุผู้จะไปอยู่ที่อื่น
- เก็บทำความสะอาด ซ่อมแซมเสนาสนะที่ตนอยู่ให้เรียบร้อย
- บอกมอบคืนเสนาสนะแก่เจ้าหน้าที่
- บอกลาผู้ที่ตนพึงพำนักอยู่ คือ อุปัชฌาย์, อาจารย์ หรือ เจ้าอาวาส
วัจจกฏีวัตร วัตรในการเข้าห้อมส้วม
- ให้เข้าตามลำดับผู้ไปถึง
- ระวังกิริยา เช่น เห็นประตูปิดให้ส่งเสียง ถาม – ตอบ
- รู้จักรักษาบริขาร เปลื้องจีวรไว้ข้างนอก
- ให้ระวังรักษาตน อย่าเบ่งแรง และอย่าใช้ไม้ที่มีปม
- มีหนามชำระ
- อย่าทำกิจอื่นเวลาถ่าย ห้ามเคี้ยวไม้ชำระฟัน
- ระวังอย่าทำสกปรก เช่น บ้วนน้ำลายลงในวัจจกุฎี
- ให้ช่วยกันรักษาความสะอาด
๒. จริยาวัตร
- ห้ามเหยียบผ้าขาวที่เขาปูไว้ในที่นิมนต์
- ยังมิได้พิจารณาก่อน อย่าพึงนั่งลงบนอาสนะ
- ห้ามนั่งที่นั่งอันเดียวกับสตรี หรือกะเทย
- เข้าไปในโรงฉัน ภิกษุอ่อนกว่ากำลังฉันอยู่จะลุกให้
- พึงห้ามเธอไว้ แล้วหาที่นั่งอื่นที่ควร
- จะนอนพักกลางวัน ท่านให้ปิดประตู
- ห้ามทำบริเวณรอบกุฎีให้สกปรก
- ห้ามขึ้นต้นไม้ เว้นไว้แต่มีเหตุจำเป็น
- ห้ามไปดูการละเล่น มหรสพต่าง ๆ
- ห้ามสวดหรือแสดงธรรมด้วยการขับร้อง
- ห้ามจับวัตถุอนามาส
วัตถุอนามาสมีดังนี้
- หญิง เครื่องแต่งกายของหญิง สัตว์ตัวเมีย
- เงิน ทอง รัตนะ ๘ ประการ (มณี มุกดา ไพฑูรย์
- ประพาฬ ทับทิม บุษราคัม สังข์ ศิลา)
- ศัสตราวุธทุกชนิด
- เครื่องดักสัตว์ทุกชนิด
- เครื่องดนตรีทุกชนิด
- ข้าวเปลือก ผลไม้ที่เกิดอยู่กับที่
๓. วิธีวัตร
วิธีวัตร คือ แบบที่ควรปฏิบัติให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในกรณียกิจต่าง ๆ ดังต่อไปนี้
๑. วิธีครองผ้า สบงพับชายเข้ารัดด้วยประคดเอว ข้างบนปิดสะดือ ชายด้านล่างให้เสมอครึ่งแข้ง ปกเข่า ส่วนการห่มจีวร สังฆาฏิ มีสองแบบ คือ ห่มเข้าบ้าน และห่มในวัด
๒. วีธีอุ้มบาตร เวลาเที่ยวบิณฑบาตให้อุ้มบาตร หรือสะพายบาตรภายในจีวร เมื่อจะรับภิกษาจึงเปิดจีวรยื่นบาตรออกรับ รับเสร็จแล้วให้คลุมไว้เช่นเดิม
๓. วิธีพับเก็บจีวร วิธีพับ ห้ามพับหักกลาง เพราะถ้าพับบ่อย ๆ จะทำให้ผ้า เป็นรอย ขาดง่าย ให้จีบจีวรด้วยมือกลับไปกลับมา วิธีเก็บให้พาดไว้บนราว ไม่ควรวางไว้ที่พื้น
๔. วิธีเก็บบาตร เก็บไว้ใต้เตียงหรือตั่ง อย่าวางไว้ในที่ประทุษร้ายบาตร
๕. วิธีเช็ดรองเท้า ให้เช็ดด้วยผ้าแห้งก่อน แล้วจึงเช็ดด้วยผ้าเปียก
๖. วิธีพัดให้พระเถระ ให้พัดที่เท้า ๑ ครั้ง ที่ตัว ๑ ครั้ง ที่ศีรษะ ๑ ครั้ง การพัดที่ศีรษะนั้น ถ้าท่านห้าม ก็ไม่ต้องพัด
๗. วิธีเปิดหน้าต่าง ในฤดูหนาว ให้เปิดกลางวัน ปิดกลางคืน ในฤดูร้อน ให้ปิดกลางวัน เปิดกลางคืน
๘. วิธีเดิน ให้เดินเรียงแถวตามลำดับพรรษา เว้นระยะห่างพอให้คนเดินผ่านได้
๙. วิธีทำวินัยกรรม เช่น แสดงอาบัติ ให้ห่มผ้าเฉวียงบ่านั่งกระโหย่งประนมมือเป็นต้น