ทางไปพระนิพพาน
ได้แก่ วิปัสสนากรรมฐาน คำว่า “นิพพาน” แปลว่าดับกิเลส กิเลสที่นิพพานดับได้นั้น มีอยู่ ๑๒ ตัว คือ โลภะ ๘ โทสะ ๒ โมหะ ๒
การดับกิเลสตามลำดับ
ถึงพระนิพพานครั้งที่ ๑ ละกิเลสได้ ๕ คือโลภะ ๔ โมหะ ๑
ถึงพระนิพพานครั้งที่ ๒ ทำกิเลสที่เหลือ ๗ นั้นให้เบาบางลง
ถึงพระนิพพานครั้งที่ ๓ ละโทสะได้ ๒
ถึงพระนิพพานครั้งที่ ๔ ละกิเลสได้อีก ๕ คือ โลภะ ๔ กับ โมหะ ๑
การละสังโยชน์ ๑๐
ถึงพระนิพพานครั้งที่ ๑ ละกิเลสได้ ๓ คือ สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส
ถึงพระนิพพานครั้งที่ ๒ ละกิเลสได้ ๓ เท่าเดิม แต่ทำลายราคะ และโทสะ ให้เบาบาง
ถึงพระนิพพานครั้งที่ ๓ ละกิเลสได้ ๒ คือ ราคะ และปฏิฆะ
ถึงพระนิพพานครั้งที่ ๔ ละกิเลสได้ทั้ง ๕ คือ รูปราคะ อรูปราคะ มานะ อุทธัจจะ อวิชชา
วิปัสสนากรรมฐาน
วิปัสสนากรรมฐาน แปลว่า กรรมฐานเป็นอุบายทำใจให้เกิดปัญญา รู้แจ้ง เห็นจริง ตามความเป็นจริง คือ เห็นปัจจุบันธรรม เห็นรูปนาม เห็นพระไตรลักษณ์ เห็นมรรค ผล นิพพาน
วิธีสมาทานวิปัสสนากรรมฐาน (ขึ้นครู)
ในวันที่จะเข้าปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานนั้นผู้มีความประสงค์ จะสมาทานพระกรรมฐาน พึงปฏิบัติดังต่อไปนี้
๑. จัดเตรียมดอกไม้ธูปเทียน ไปทำวัตรพระเถระผู้เป็นประธานในสถานที่นั้นๆ
๒. ถวายสักการะต่อพระอาจารย์ผู้ให้กรรมฐาน
๓. จุดธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัย
๔. ถ้าเป็นพระให้แสดงอาบัติก่อน ถ้าเป็นสามเณร หรือ อุบาสก อุบาสิกา ให้สมาทานศีลเสียก่อน (ศีล ๕ หรือ ศีล ๘ ตามสมควร แก่อัธยาศัย แก่เหตุ และปัจจัย)
๕. มอบกายถวายตัวต่อพระรัตนตรัย ว่า
อิมาหัง ภะคะวา อัตตะภาวัง ตุมหากัง ปะริจจะชามิฯ
ข้าแต่องค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า ข้าพระพุทธเจ้า ขอมอบกายถวายชีวิต แด่พระพุทธเจ้า แด่พระธรรม แด่พระสงฆ์ เพื่อเจริญ พระกรรมฐาน ณ โอกาสต่อไปนี้
๖. มอบกายถวายตัวต่อพระอาจารย์
อิมาหัง อาจะริยะ อัตตะภาวัง ตุมหากัง ปะริจจะชามิฯ
ข้าแต่ท่านพระอาจารย์ ข้าพเจ้าขอมอบกายถวายตัวแก่ท่าน เพื่อเจริญพระกรรมฐาน ณ โอกาสต่อไปนี้
๗. ขอพระกรรมฐาน
นิพพานัสสะ เม ภันเต สัจฉิกะระณัตถายะ กัมมัฏฐานัง เทหิ ฯ
ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ขอท่านจงให้พระกรรมฐานแก่ข้าพเจ้า เพื่อประโยชน์แก่การทำให้แจ้ง ซึ่งมรรคผล พระนิพพาน ณ โอกาสต่อไปนี้
๘. คำแผ่เมตตา
อะหัง สุขิโต โหมิ นิททุกโข โหมิ อะเวโร โหมิ อัพ๎ยาปัชโฌ โหมิ อะนีโฆ โหมิ สุขี อัตตานัง ปะริหะรามิฯ
ขอให้ข้าพเจ้า จงถึงสุข ปราศจากทุกข์ ไม่มีเวร ไม่มีภัย ไม่มีความเบียดเบียน ไม่มีความเดือดร้อน ขอให้มีความสุข รักษาตนอยู่เถิด
๙. เจริญมรณานุสสติ
๑๐. ตั้งสัจจาธิษฐาน
๑๑. ตั้งความปรารถนา
อิมายะ ธัมมานุธัมมะปะฏิปัตติยา ระตะนัตตะยัง ปูเชมิฯ
ข้าพเจ้าขอบูชาพระพุทธเจ้า ขอบูชาพระธรรม ขอบูชาพระสงฆ์ ด้วยการปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรมนี้
ด้วยสัจจะวาจานี้ ขอให้ข้าพเจ้าได้สำเร็จมรรค ผล นิพพาน ในเวลาไม่ช้าไม่นานด้วยเทอญ
๑๒. เจริญพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณ ถ้าอยู่ป่าอยู่ถ้ำให้สวดกรณียเมตตสูตร และขันธปริต
๑๓. วิธีสมาทานพระกรรมฐานโดยย่อ ก่อนนั่งสมาธิ
“อุกาสะ อุกาสะ ณ โอกาสบัดนี้ ข้าพเจ้าขอสมาทานเอา ซึ่งพระกรรมฐาน ขอขณิกะสมาธิ อุปจารสมาธิ อัปปนาสมาธิ และวิปัสสนาญาณ ขอจงบังเกิดขึ้น ในขันธสันดานของข้าพเจ้า ข้าพเจ้าจะตั้งสติกำหนดไว้ที่ลมหายใจเข้าออก ลมหายใจเข้ารู้ ลมหายใจออกรู้ สามหนและเจ็ดหน ร้อยหนและพันหน ด้วยความไม่ประมาท ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป”