ทางไปพรหมโลก
ได้แก่สมถะกรรมฐาน สมถะกรรมฐานนั้นมีอารมณ์ ๔๐ กอง แบ่งออกเป็น ๗ หมวด
หมวดที่ ๑ กสิณ ๑๐
(๑) ปฐวีกสิณ เพ่งดูวงกลมดินซึ่งทำด้วยดินสีแดงล้วน บริกรรมว่า “ปะฐะวี ๆ”
(๒) อาโปกสิณ เพ่งดูน้ำ หรือเพ่งดูวงกลมน้ำ บริกรรมว่า “อาโป ๆ”
(๓) เตโชกสิณ เพ่งดูไฟ หรือเพ่งดูวงกลมไฟ บริกรรมว่า “เตโช ๆ”
(๔) วาโยกสิณ เพ่งดูลมที่พัดกระทบตัว หรือเพ่งดูอาการของลมที่พัดไปตามยอดหญ้า บริกรรมว่า “วาโย ๆ”
(๕) นีลกสิณ เพ่งดูสีเขียว หรือเพ่งดูวงกลมสีเขียว บริกรรมว่า “นีลัง ๆ”
(๖) ปีตกสิณ เพ่งดูสีเหลือง หรือเพ่งดูวงกลมสีเหลือง บริกรรมว่า “ปีตัง ๆ”
(๗) โลหิตกสิณ เพ่งดูสีแดง หรือเพ่งดูวงกลมสีแดง บริกรรมว่า “โลหิตัง ๆ”
(๘) โอทาตกสิณ เพ่งดูสีขาว หรือเพ่งดูวงกลมสีขาว บริกรรมว่า “โอทาตัง ๆ”
(๙) อาโลกกสิณ เพ่งดูแสงสว่าง หรือเพ่งดูวงกลมแสงสว่าง บริกรรมว่า “อาโลกัง ๆ”
(๑๐) อากาสกสิณ เพ่งดูอากาศ หรือเพ่งดูวงกลมช่องว่าง บริกรรมว่า “อากาโส ๆ” ผลที่จะได้ คือ ได้ความสงบ ได้ฤทธิ์ต่างๆ
หมวดที่ ๒ อสุภะ ๑๐
(๑) อุทธุมาตกอสุภะ ซากศพที่ขึ้นพอง บริกรรมว่า “ซากศพขี้นพองน่าเกลียดๆ”
(๒) วินีลกอสุภะ เพ่งดูซากศพที่มีสีเขียว บริกรรมว่า “ซากศพสีเขียวเป็นของน่าเกลียดๆ”
(๓) วิปุพพกอสุภะ ซากศพที่มีน้ำเหลืองไหลออก บริกรรมว่า “ซากศพมีน้ำเหลืองไหลออกเป็นของน่าเกลียดๆ”
(๔) วิจฉิททกอสุภะ ซากศพที่ขาดเป็นท่อน บริกรรมว่า “ซากศพที่ขาดนั้นเป็นของน่าเกลียดๆ”
(๕) วิกขายิตกอสุภะ ซากศพที่ถูกสัตว์กันขาดวิ่นไป บริกรรมว่า “ซากศพที่ถูกสัตว์กัดขาดเป็นของน่าเกลียดๆ”
(๖) วิกขิตตอสุภะ ซากศพที่ถูกสัตว์กัดกระจุยกระจายในที่นั้นๆบริกรรมว่า “ซากศพที่ถูกสัตว์กัดกระจุยกระจายน่าเกลียดๆ”
(๗) หตวิกขิตตกอสุภะ เพ่งซากศพที่ถูกฆ่าตาย บริกรรมว่า “ซากศพที่ถูกฆ่าตายนี้เป็นของน่าเกลียดๆ”
(๘) โลหิตกสุภะ ซากศพที่มีเลือดไหลออกอยู่ บริกรรมว่า “ซากศพที่มีเลือดไหลออกนี้เป็นของน่าเกลียดๆ”
(๙) ปุฬุวกอสุภะ ซากศพที่มีหมู่หนอนไหลออกอยู่ บริกรรมว่า “ซากศพที่มีหมู่หนอนไหลออกเป็นของน่าเกลียดๆ”
(๑๐) อัฏฐิกอสุภะ เพ่งซากศพที่เป็นโครงกระดูก บริกรรมว่า “ซากศพที่เป็นโครงกระดูกนี้เป็นของน่าเกลียดๆ”
หมวดที่ ๓ อนุสสติ ๑๐
(๑) พุทฺธานุสฺสติ ระลึกถึงคุณของพระพุทธเจ้า บริกรรมว่า “อิติปิ โส ภควา ฯลฯ พุทฺโธ ภควา ติๆ”
(๒) ธมฺมานุสฺสติ ระลึกถึงคุณพระธรรม บริกรรมว่า “สฺวากฺขาโต ภควตา ธมฺโม ฯลฯ วิญฺญูหีติๆ”
(๓) สงฺฆานุสฺสติ ระลึกถึงคุณของพระสงฆ์ บริกรรมว่า “สุปฏิปนฺโน ภควโต ฯลฯ โลกสฺสาติๆ”
(๔) สีลานุสฺสติ ระลึกถึงคุณแห่งศีลของตน
(๕) จาคานุสฺสติ ระลึกถึงทานที่ตนบริจาคแล้ว
(๖) เทวตานุสฺสติ ระลึกถึงธรรมที่ทำให้เป็นเทวดา (ศรัทธา ศีล สุตะ จาคะ ปัญญา)
(๗) อุปสมานุสฺสติ ระลึกถึงคุณพระนิพพาน อันเป็นที่ระงับกิเลสและกองทุกข์
(๘) มรณานุสฺสติ ระลึกถึงความตายอันจะมาถึงตน
(๙) กายคตาสติ ตั้งสติไว้ที่กาย คือ การระลึกทั่วไปในกาย
(๑๐) อานาปานสติ ตั้งสติกำหนดลมหายใจเข้า-ออก
หมวดที่ ๔ พรหมวิหาร ๔
(๑) เมตตา แปลว่า ความรักความปรารถนาดี อยากให้เขาได้สุข ได้แก่ อโทสเจตสิก
วิธีปฏิบัติ คือให้เว้นบุคคลที่ควรเว้น นั่งสมาธิในที่เงียบ พิจารณาเห็นโทษของโทสะ เห็นคุณของขันติ แผ่เมตตาให้ตน แผ่ไปในสัตว์อื่น แผ่โดยไม่เจาะจง และเจาะจง แล้วจึงแผ่ไปในทิศทั้งหลาย ตามลำดับ
อานิสงส์ของการแผ่เมตตา มี ๑๑ ประการ คือ
๑) สุขํ สุปติ นอนหลับสบายคล้ายเข้าสมาธิ
๒) สุขํ ปฏิพุชฺฌติ เมื่อตื่นนอนก็สบายคล้ายออกจากสมาธิ
๓) น ปาปกํ สุปินํ ปสฺสติ ไม่ฝันเห็นสิ่งที่ชั่วน่าเกลียดน่ากลัว ฝันเห็นแต่สิ่งที่ดี ที่ปลื้มใจ
๔) มนุสฺสานํ ปิโย โหติ เป็นที่รักของคนทั้งหลาย
๕) อมนุสฺสานํ ปิโย โหติ เป็นที่รักของอมนุษย์ทั้งหลาย มี เทวดาเป็นต้น
๖) เทวตา รกฺขนฺติ เทวดาทั้งหลายย่อมรักษา
๗) นาสฺส อคฺคิ วา วิสํ วา สตฺถํ วา กมติ ไฟ, ยาพิษ, ศัตราวุธต่างๆ ไม่กล้ำกราย
๘) ตุวฏํ จิตฺตํ สมาธิยติ จิตใจลงสู่ความสงบได้เร็ว
๙) มุขวณฺโณ วิปฺปสีทติ มีสีหน้าผ่องใส
๑๐) อสมฺมุฬฺโห กาลํ กโรติ เมื่อเวลาตายจิตใจไม่ฟั่นเฟือน คือ ไม่หลงตาย
๑๑) อุตฺตรึ อปฺปฏิวิชฺฌนฺโต พฺรหฺมโลกูปโค โหติ แม้ว่ายังไม่ได้บรรลุมรรค ผล อันประเสริฐในภพนี้ก็ตาม ถ้าได้รูปฌานก็จักไปบังเกิดในพรหมโลก
(๒) กรุณา แปลว่า ความสงสารสัตว์ที่ตกทุกข์ได้ยาก ปราถนาจะช่วยให้พ้นทุกข์
(๓) มุทิตา แปลว่า ความพลอยยินดีในเมื่อได้เห็น ได้ทราบว่าผู้อื่นได้ดี ได้แก่ มีความรื่นเริงบันเทิงใจร่วมด้วย
(๔) อุเบกขา แปลว่า ความวางเฉยในอารมณ์ที่น่ายินดี และอารมณ์ที่ไม่น่ายินดี
อารมณ์ของอุเบกขา มี ๒ จำพวก
๑) พวกธรรมดา
๒) พวกที่เป็นไปด้วยอำนาจภาวนาสมาธิ (ปิยะ – เวรี)
การวางเฉย ๒ อย่าง คือ
๑) เป็นไปด้วยอำนาจแห่ง ตัตระมัชฌัตตะตา คือเฉย แต่ยังมองดูอยู่
ยังพิจารณาเห็นอยู่
๒) เป็นไปด้วยอำนาจแห่งโมหะ เฉยแบบไม่รู้เรื่อง เฉยเมย
แผ่ตามลำดับดังนี้
ตน, มัชฌัตตบุคคล คือบุคคลกลางๆ ที่เราไม่รักไม่เกลียด
ปิยบุคคล คือบุคคลที่เรารัก
อติปิยบุคคล คือบุคคลที่เรารักยิ่ง
เวรีบุคคล คือบุคคลที่เราเกลียด มีความอาฆาต โกรธเคืองกันอยู่
หมวดที่ ๕ อาหาเรปฏิกูลสัญญา
อาหาเรปฏิกูลสัญญา หมายถึง การพิจารณาอาหารโดยเห็นเป็นของปฏิกูล องค์ธรรมได้แก่ สัญญาเจตสิก
ปฏิกูลโดยอาการ ๑๐ อย่าง คือ
๑. คมนา การเดินไปหาอาหาร
๒. เอสนา การแสวงหา
๓. โภคา การบริโภค
๔. อาสยา ที่อยู่ของอาหาร
๕. นิธานโต หมักหมม
๖. อปกฺกา ไม่ย่อย
๗. ปกฺกา ย่อยแล้ว
๘. ผลา ผล (ปาจกเตโช)
๙. นิสฺสนฺทา ไหลออก
๑๐. มกฺขนา เปื้อน
พิจารณาพิเศษ
ขณะบริโภคอยู่นั้น ย่อมนั่งล้อมวง พร้อมหน้ากันเป็นหมู่ๆ เมื่อถึงคราวที่จะถ่ายออกเป็นอุจจาระ หรือปัสสาวะ ก็ต้องปลีกออกจากหมู่ไปแอบแฝงแต่เดียวดาย เมื่อบริโภควันแรก ก็มีทั้งยินดีร่าเริงสนุกสนาน ปีติ โสมนัส ครั้นวันที่ ๒ จะถ่ายออก ย่อมปิดจมูก หน้านิ่วคิ้วขมวด สะอิดสะเอียน เก้อเขิน ในวันแรกมีความเอร็ดอร่อย ชอบอกชอบใจ จดจ่อ หมกมุ่น กลืนกิน พอรุ่งขึ้นวันที่ ๒ ทิ้งไว้เพียงคืนเดียว ก็หมดความชอบใจแล้ว กลับรังเกียจ ขยะแขยง แหนงหน่าย มีความรำคาญ ไม่สบาย เพราะต้องถ่ายออก พระโบราณท่านกล่าวว่า
“ ข้าวน้ำ ของเคี้ยว และของกิน อันมีค่ามาก เข้าทางช่องเดียว แต่ออกมาจาก ๙ ช่อง
ข้าวน้ำ ของเคี้ยว และของกิน อันมีค่ามาก คนกินกันทั้ง พวกพ้อง แต่เมื่อถ่ายออกย่อมซ่อนเร้นผู้เดียว
ข้าวน้ำ ของเคี้ยว และของกิน อันมีค่ามาก คนนิยมยินดีกินเข้าไป แต่เมื่อถ่ายออกย่อมรังเกียจ
ข้าวน้ำ ของเคี้ยว และของกิน อันมีค่ามาก เพราะค้างอยู่ คืนเดียว ก็เป็นของเสียไปสิ้น คือ บูดเน่าไปเสียหมด ”
หมวดที่ ๖ จตุธาตุววัตถาน
การกำหนดพิจารณาธาตุ ๔ หมายความว่า การพิจารณาธาตุทั้ง ๔ ที่ปรากฏในร่างกายจนกระทั่งเห็นเป็นเพียงธาตุ ปราศจากความจำได้หมายรู้ว่า เป็นหญิง ชาย เรา เขา สัตว์ บุคคล เสียได้ องค์ธรรมได้แก่ ปัญญาเจตสิก
การพิจารณาธาตุ ๔ แยกเป็น ๒ ประเภท คือ
๑) พิจารณาโดยย่อ
๒) พิจารณาโดยพิสดาร
การพิจารณาโดยย่อ ซึ่งธาตุทั้ง ๔ ดังนี้
ธาตุอันใดมีลักษณะแข้นแข็ง ธาตุอันนั้นเป็นธาตุดิน ที่เป็นภายใน คือ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก เยื่อในกระดูก ม้าม หัวใจ ตับ พังผืด ไต ปอด ไส้ใหญ่ ไส้น้อย อาหารใหม่ อาหารเก่า
ธาตุอันใดมีลักษณะเอิบอาบ ธาตุอันนั้นเป็นธาตุน้ำ ที่เป็นภายใน คือ ดี เสลด หนอง เลือด เหงื่อ มันข้น น้ำตา เปลวมัน น้ำลาย น้ำมูก ไขข้อ มูตร
ธาตุอันใดมีลักษณะร้อน ธาตุอันนั้นเป็นธาตุไฟ ที่เป็นภายใน คือ ไฟที่ยังกายให้อบอุ่น ไฟที่ยังกายให้ทรุดโทรม ไฟที่ยังกายให้กระวนกระวาย ไฟที่เผาอาหารให้ย่อย
ธาตุอันใดมีลักษณะพัดไปมา ธาตุอันนั้นเป็นธาตุลม ที่เป็นภายใน คือ ลมพัดขึ้นเบื้องบน ลมพัดลงเบื้องต่ำ ลมในท้อง ลมในไส้ ลมพัดไปตามตัว ลมหายใจ
การพิจารณากายนี้ ให้เห็นว่าเป็นเพียงสักว่าธาตุทั้ง ๔ คือ ดิน น้ำ ไฟ ลม ประชุมกันอยู่ ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัว ตน เรา เขา ไม่ใช่เรา ไม่ใช่เขา นี้เรียกว่า ธาตุกรรมฐาน
หมวดที่ ๗ อรูปกรรมฐาน ๔
(๑) อากาสานัญจายตนะ เพ่งความว่างเปล่าไม่มีที่สุดเป็นอารมณ์ ภาวนาว่า “อากาโส อนนฺโตๆ”
(๒) วิญญานัญจายตนะ เพ่งวิญญาณไม่มีที่สุดเป็นอารมณ์ ภาวนาว่า “วิญฺาณํ อนนฺตํๆ”
(๓) อากิญจัญญายตนะ เพ่งความไม่มีอะไรเป็นที่สุดเป็นอารมณ์ ภาวนาว่า “นตฺถิ กิญฺจิๆ” หรือ “นตฺถิๆ”
(๔) เนวสัญญานาสัญญายตนะ เพ่งความมีสัญญาก็ไม่ใช่ ไม่มีสัญญาก็ไม่ใช่เป็นอารมณ์ ภาวนาว่า “เอตํ สนฺตํ เอตํ ปณีตํๆ” หรือ “สนฺตเมตํ ปณีตเมตํๆ”
ทางไปพรหมโลกก็จบลงโดยสังเขป มีตัวอย่าง คือ เรื่อง แม่ไก่ฟังธรรม
เรื่องแม่ไก่ฟังธรรม
มีเรื่องเล่าไว้ว่า ในกาลพระพุทธเจ้านามว่า กะกุสันธะ แม่ไก่ตัวหนึ่งอยู่ในที่ใกล้อาสนศาลา แม่ไก่ตัวนั้นได้ฟังเสียงประกาศธรรมเรื่องวิปัสสนากรรมฐานของภิกษุนักปฏิบัติธรรมรูปหนึ่ง ในขณะที่นั่งฟังธรรมอยู่นั้น จึงถูกเหยี่ยวฆ่าตาย
ตายจากชาตินั้นแล้วเกิดเป็นพระราชธิดา นามว่า อุมพรี ได้ออกบวชเป็นปริพาชิกา นักบวชหญิงนอกศาสนาพุทธ เจริญสมถะ เอาหนอนเป็นอารมณ์ เรียกว่า ปุฬุวกสัญญา จนได้ปฐมฌาน
ตายจากชาตินั้นไปเกิดในพรหมโลก
จุติจากพรหมโลกแล้วได้มาเกิดเป็นลูกของเศรษฐี (ตระกูลเศรษฐี)
ตายจากชาตินั้น ไปเกิดเป็นลูกสุกรในกรุงราชคฤห์ ในกาลแห่งพระพุทธเจ้าของเรานี้
นางลูกสุกรตายแล้วไปเกิดในราชตระกูลในสุวรรณภูมิ
ตายจากนั้นเกิดในกรุงพาราณสี
ตายจากนั้นเกิดในเรือนพ่อค้าม้าที่ท่าสุปารกะ
ตายจากนั้นเกิดในเรือนของนายเรือที่ท่าคาวิระ
ตายจากนั้นเกิดในเรือนของอิสระชน ในเมืองอนุราธบุรี
ตายจากนั้นเกิดเป็นธิดาของกุฎุมพี ชื่อว่า สุมนะ ในเภกกันตุคาม มีชื่อว่า สุมนา ต่อมาบิดาพาย้ายไปสู่แคว้นฑีฆวาปี อำมาตย์ของพระเจ้ากุฎฐคามินี นามว่า ลกุลฎกะอติมพระ สู่ขอนางไปเป็นภรรยา
พระมหาอะตุละเถระ ผู้อยู่ในมหาวิหารชื่อ โกฎิบรรพต เที่ยวไปบิณฑบาตในบ้านนั้น จึงกล่าวว่า ผู้มีอายุทั้งหลาย นางลูกสุกรถึงความเป็นภรรยาของมหาอำมาตย์ ชื่อ ลกุลฎกะอติมพระแล้ว ฯลฯ
นางได้ยินก็เกิดระลึกชาติได้ สลดใจมากจึงขอสามีออกบวชด้วยอิสรยศอย่างใหญ่ ได้ฟังมหาสติปัฏฐาน ได้บรรลุเป็นพระโสดาบัน และสำเร็จเป็นพระอรหันต์ในที่สุด
เพราะฉะนั้น ขอสาธุชนทั้งหลายจงอย่าพากันประมาท และนอนใจอยู่ เพียงแต่เดินทางสายที่ ๔ – ๕ – ๖ ก็ยังไม่สามารถจะพาเราพ้นจากกิเลส และกองทุกข์ได้ ยังไม่พ้นไปจากอบายภูมิแน่นอน เผลอเมื่อใด พลาดเมื่อใด ประมาทเมื่อใด หมดบุญเมื่อใด เมื่อนั้น เราจะต้องย้อนมาสู่อบายได้อีก ดังตัวอย่างที่ได้เล่าให้ฟังมาแล้วนั้น เรายังรู้สึกว่า มีประตูอบายเปิดคอยไว้ทุกเมื่อ ในเมื่อเราประมาท ขาดสติ เพราะเราปิดประตูอบายยังไม่ได้ จงพากันถ่อพากันพาย ตะวันจะสาย ฯลฯ จงพายไปเถิด ถ่อไปเถิด พายไป ถ่อไปซึ่งเรือสำเภาทองลำนี้ จนกว่าจะถึงพระนิพพาน จะได้ความสุขอย่างยอดเยี่ยมสมกับพระบาลีว่า นิพฺพานํ ปรมํ สุขํ พระนิพพานเป็นสุขอย่างยอด คือ เป็นสุขยอดสุข
คำว่า “ยอด” นั้น มีอยู่ ๗ คือ
๑. ยอดโรค ได้แก่ ความหิว ชิฆจฺฉา ปรมา โรคา ความหิวเป็นโรคอย่างยอด
๒. ยอดลาภ ได้แก่ ความไม่มีโรค อาโรคฺยปรมา ลาภา ความไม่มีโรค เป็นยอดลาภ
๓. ยอดทรัพย์ ได้แก่ ความสันโดษ สนฺตุฎฐิปรมํ ธนํ ความสันโดษ เป็นยอดทรัพย์
๔. ยอดญาติ ได้แก่ ความคุ้นเคย วิสฺสาสปรมา ญาติ ความคุ้นเคย เป็นญาติอย่างยอด
๕. ยอดทุกข์ ได้แก่ รูป – นาม สงฺขารา ปรมา ทุกฺขา สังขารคือรูปนามเป็นทุกข์อย่างยอด
๖. ยอดสุข ได้แก่ พระนิพพาน นิพฺพานํ ปรมํ สุขํ พระนิพพานเป็นสุขอย่างยอด
๗. ยอดคน คือ
อสฺสทฺโธ อกตญฺญู จ สนฺธิจฺเฉโท จ โย นโร
หตาวกาโส วนฺตาโส สเว อุตฺตมโปริโสติฯ
“บุคคลผู้ไม่เชื่อคุณธรรมที่ตนแทงตลอดแล้วด้วยถ้อยคำของคนเหล่าอื่น ๑ บุคคลผู้รู้แจ้งพระนิพพานอันปัจจัยอะไรๆ ปรุงแต่งไม่ได้แล้ว ๑ บุคคลผู้ตัดที่ต่อ คือวัฏฏะสงสารได้แล้ว ๑ บุคคลผู้ไม่มีโอกาสที่จะกลับมาเกิดอีก ๑ บุคคลที่สิ้นหวัง คือหมดอยาก ได้แก่สิ้นตัณหา ๑ นั้นแลชื่อว่า เป็นยอดคน ฯ”
สรุปกรรมฐาน ๔๐ กอง
ในกรรมฐาน ๔๐ ประการ ที่ทำให้เกิดฌานได้มีอยู่ ๓๐ ประการ คือ กสิณ ๑๐ อสุภะ ๑๐ อานาปานสติ ๑ กายคตาสติ ๑ พรหมวิหาร ๔ อรูปกรรมฐาน ๔ รวม ๓๐ ประการนี้ สามารถทำฌานให้เกิดได้เพราะเป็นกรรมฐานที่ปรากฏชัด อันจิตและเจตสิกสามารถแอบแนบสนิทตั้งอยู่ได้นาน อีก ๑๐ ประการนอกจากนี้ ทำได้เพียงอุปจารสมาธิ หรืออุปจารฌานเท่านั้น ไม่สามารถทำได้ถึงอัปปนาสมาธิ หรือถึงอัปปนาฌานได้ เพราะกรรมฐานทั้ง ๑๐ ประการนั้นเป็นกรรมฐานที่ละเอียดสุขุมคัมภีรภาพ อันจิตและเจตสิกไม่สามารถแอบแนบสนิทตั้งอยู่ได้นาน
สำหรับกรรมฐานทั้ง ๓๐ ประการที่ทำให้เกิดฌานได้นั้น ก็ยังมีอานุภาพต่างๆ กัน ดังนี้คือ
– กสิณ ๑๐ อานปานสติ ๑ ทำให้ได้ถึงจตุตถฌาน (จตุกนัย)
– อุเบกขาพรหมวิหาร ทำให้ได้เฉพาะจตุตถฌานอย่างเดียว
– เมตตา กรุณา มุทิตา ทั้ง ๓ ประการนี้ ทำให้ได้ถึงตติยฌาน (แสดงตามจตุกนัย ซึ่งมีองค์ฌาน ๒ คือ สุข เอกัคคตา)
– อสุภะ ๑๐ กายคตาสติ ๑ ทำให้ได้เพียงปฐฌาน