วิธีปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน

วิธีปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน

         วันแรกให้กรรมฐานไปปฏิบัติ  ๖  ข้อ  คือ

         ๑.  เดิน  

         ๒.  นั่ง   

         ๓.  เวทนา

         ๔.  จิต   

         ๕.  เสียง                

         ๖.  นอน

         ๑.  เดินจงกรม

         ให้ยืนตัวตรง  เอามือขวาไขว้ทับมือซ้ายก็ได้  วางไว้ตรงๆ ก็ได้      ไขว้หลังก็ได้ตามแต่ถนัด  ส่วนมากเอาไว้ข้างหน้า  ทอดสายตาไปประมาณ  ๔ – ๕ ศอก  ให้ลืมตา  อย่าหลับตา  ให้สติจับอยู่ที่ร่างกาย  ภาวนาว่า  “ยืนหนอๆ”  สามหน  ต่อนั้นไปให้สติจับอยู่ที่ส้นเท้า  เดินช้าๆ ภาวนาอยู่ในใจว่า  “ขวา – ย่าง – หนอ”  ขณะที่ใจนึกว่า  “ขวา”  ต้องยกส้นเท้าข้างขวาขึ้นให้พร้อมกัน  เท้าที่ยกกับใจที่นึกต้องให้ตรงกัน  ขณะว่า  “ย่าง”  ต้องเคลื่อนเท้าไปอย่างช้าๆ ลากเสียงยาวๆ แล้วหยุดนิดหนึ่ง  ขณะว่า  “หนอ”  เท้าต้องลงถึงพื้นพร้อมกัน  เวลายกเท้าซ้ายก็เหมือนกัน  ภาวนาในใจว่า  “ซ้าย – ย่าง – หนอ”  เช่นเดียวกัน

         ให้ส้นเท้ากับปลายเท้าห่างกันประมาณสัก  ๒ – ๓  นิ้ว  เมื่อเดินสุดสถานที่เดินจงกรม  ให้เอาเท้าเคียงกัน  แล้วหยุดยืน  ภาวนาในใจว่า      “ยืนหนอๆ”  ว่าช้าๆ ประมาณสักสามครั้ง  หรือ ๔ – ๕  ครั้ง 

         ขณะนั้นให้สติอยู่ที่ร่างกาย  อย่าให้ออกไปนอกร่างกาย  แล้วกลับ  จะกลับข้างขวา  หรือกลับข้างซ้ายก็ได้  ถ้ากลับข้างขวา  เวลากลับส้นเท้าติดอยู่กับพื้นยกปลายเท้าให้พ้นพื้นแล้วหมุนไปช้าๆ พร้อมกับภาวนาในใจว่า    “กลับหนอๆ”  ให้หมุนไปประมาณสัก  ๔ – ๕  นิ้ว  ส่วนเท้าซ้ายให้ยกขึ้นพ้นพื้นแล้วหมุนตามไปพร้อมกับภาวนาว่า  “กลับหนอๆ” เช่นเดียวกัน      ให้หมุนกลับไปอย่างนี้ประมาณ  ๓  หรือ  ๔  คู่  ก็จะพอดีกับความต้องการที่จะหยุด  แล้วยืนตรงอยู่กับที่  ภาวนาว่า  “ยืนหนอๆ” ว่า  ๓  ครั้ง  หรือ  ๔  ครั้ง  แล้วเดินจรงกรมต่อไปโดยภาวนาว่า  “ขวา – ย่าง – หนอ       ซ้าย – ย่าง – หนอ”

         ให้เดินกลับไปกลับมาอยู่อย่างนี้ประมาณ  ๓๐  นาที  หรือ  ๑  ชั่วโมง  เมื่อเดินพอสมควรแก่เวลาแล้ว  ก็ให้นั่งติดต่อกันไปเลยจึงจะไม่ขาดระยะ  สติ  สมาธิ  ปัญญา  จึงจะแก่กล้าดี

         ๒.  นั่ง

         ให้เตรียมจัดอาสนะสำหรับนั่งไว้ก่อนเดินจงกรม  เมื่อเดินครบกำหนดแล้วให้นั่งลง  เวลานั่งให้ค่อยๆ ย่อตัวลงพร้อมกับภาวนาว่า        “นั่งหนอๆ”  ให้ภาวนาต่ออย่างนี้เรื่อยไปจนกว่าจะนั่งเสร็จเรียบร้อย

         วิธีนั่ง  ให้นั่งขัดสมาธิ  คือ  เอาขาขวาทับขาซ้าย  เอามือขวาทับมือซ้าย  ตั้งกายให้ตรง  ดำรงสติให้มั่น  ถ้าจำเป็นจะนั่งเก้าอี้  หรือนั่งพับเพียบก็ได้

         นั่งเรียบร้อยแล้วให้หลับตา  เอาสติจับอยู่ที่ท้องเหนือสะดือประมาณ  ๒  นิ้ว  เวลาหายใจเข้าท้องพอง  ให้ภาวนาตามอาการพองว่า  “พองหนอ”  ใจที่นึกกับท้องที่พองต้องให้ทันกัน  ให้ตรงกันพอดี  อย่าให้ก่อนหรือหลังกัน

         ข้อสำคัญ  ให้จิตจับอยู่ที่อาการนูน  อาการแฟบของเท้านั้น  อย่าไปดูลมที่จมูก  และอย่าตะเบ็งท้อง  ให้นั่งภาวนาอย่างนี้ตลอดไป  อย่างต่ำประมาณ  ๓๐ – ๔๐  นาที  อย่างสูงประมาณ  ๑  ชั่วโมง  หรือเกินกว่านั้น

         ๓.  เวทนา

         เวทนา  คือความสบาย  ไม่สบาย  หรือเฉยๆ ในขณะที่นั่งอยู่นั้น  ถ้าเวทนาอย่างใดอย่างหนึ่งเกิดขึ้น  เช่น  เจ็บ  ปวด  เมื่อย  คัน  เป็นต้น  ให้ปล่อยพอง – ยุบ  แล้วเอาสติไปกำหนดที่เจ็บ  ปวด  เมื่อย  คัน  เป็นต้น  พร้อมกับภาวนาว่า  “เจ็บหนอๆ”  หรือ “ปวดหนอๆ”  หรือ  “เมื่อยหนอๆ”  หรือ  “คันหนอๆ”  ตามอาการของเวทนานั้นๆ สุดแท้แต่เวทนาอย่างไหนจะเกิดขึ้น  เมื่อเวทนาหายแล้วให้เอาสติกลับไปกำหนดที่ท้อง  ภาวนาพองหนอ  ยุบหนอ  ต่อไปอีกจนกว่าจะครบกำหนดเวลาที่ตนกำหนดเอาไว้  หรือที่ตนได้กะเอาไว้

         ๔.  จิต

         ในเวลาที่นั่งกำหนดอยู่นั้น  ถ้าจิตคิดถึงบ้าน  ถึงทรัพย์สมบัติ  หรือคิดถึงกิจการงานต่างๆ ให้เอาสติกำหนดที่หัวใจ  พร้อมกับภาวนาว่า      “คิดหนอๆ”  จนกว่าจะหยุดคิด  เมื่อหยุดคิดแล้ว  ให้กลับไปกำหนด     พองหนอ  ยุบหนอ  ต่อไปอีก

         แม้ดีใจ  เสียใจ  โกรธ  เป็นต้น  ก็ให้ใช้สติกำหนดที่หัวใจโดยทำนองเดียวกันอย่างนี้  คือ  ถ้าดีใจให้กำหนดว่า  “ดีใจหนอๆ”  ถ้าเสียใจให้กำหนดว่า  “เสียใจหนอๆ”  ถ้าโกรธให้กำหนดว่า  “โกรธหนอๆ” จนกว่าความโกรธนั้น  หรืออารมณ์นั้นจะหายไป เมื่อความโกรธ  หรืออารมณ์นั้นหายไปแล้วให้กลับไปกำหนด  พองหนอ  ยุบหนอ  อีกต่อไปจนกว่าจะหมดเวลา

         ๕.  เสียง

         ในขณะที่นั่งกำหนดอยู่นั้น  ถ้ามีเสียงดังหนวกหู  ให้ใช้สติกำหนดที่หู  ภาวนาว่า  “ได้ยินหนอๆ”  จนกว่าจะหายหนวกหู  หรือรำคาญหู  เมื่อหายหนวกหูแล้วให้กลับไปกำหนด  พองหนอ  ยุบหนอ  ต่อไป

         ๖.  นอน

         เวลานอน  ให้ค่อยๆ เอนตัวลง พร้อมกับภาวนาว่า“นอนหนอๆ”  จนกว่าจะนอนเรียบร้อย  ขณะที่ภาวนานั้นให้สติจับอยู่กับอาการที่เคลื่อนไหวของร่างกาย  เมื่อนอนเรียบร้อยแล้วให้เอาสติมาไว้ที่ท้อง     พร้อมกับภาวนาว่า  “พองหนอ ยุบหนอๆ”  ต่อไปจนกว่าจะหลับ 
ให้ท่านคอยสังเกตให้ดีว่า จะหลับไปตอนพอง  หรือหลับไปตอนยุบ

         วันที่  ๒  เมื่อสอบอารมณ์แล้วให้เพิ่มบทเรียนอีกบท  คือ  กำหนดต้นจิต  การกำหนดต้นจิต  หรือต้นใจ ได้แก่  ความอยาก นั่นเอง          เช่น  อยากลุก  อยากนั่ง  เป็นต้น

         วันที่  ๓ – ๔ – ๕  ให้เพิ่มบทเรียนได้อีก  ๑  บท  คือ  เพิ่มกำหนดทวารทั้ง  ๕  คือ  ตา  หู  จมูก  ลิ้น  กาย

         วันต่อไป เมื่อญาณที่ ๑ – ๒ เกิดขึ้นแล้วให้เพิ่มบทเรียน ขึ้นระยะที่ ๒ คือ  ยกหนอ – เหยียบหนอ  ทุกครั้งที่ปฏิบัติต้องให้เดินจงกรมระยะที่ ๑ ก่อน

         วันต่อไป  เวลากำหนดยุบหนอ  ถ้ารู้สึกว่าทิ้งจังหวะไว้นาน  ให้เพิ่มบทเรียน  “นั่งหนอ”

         วันต่อไป  เมื่อญาณที่  ๓ – ๔  เกิดขึ้นแล้ว  ให้เพิ่มบทเรียนขึ้น  เป็นระยะที่  ๓  คือ  ยกหนอ  ย่างหนอ  เหยียบหนอ

         วันต่อไป  เวลากำหนด  พอง – ยุบ – นั่ง  ถ้ากำหนดนั่งหนอแล้วทิ้งระยะห่างอยู่  ให้เพิ่มคำว่า  “ถูกหนอ”

         เมื่อญาณที่  ๕ – ๖  เกิดขึ้นแล้ว  ให้เพิ่มบทเรียนเป็นระยะที่  ๕  คือ  ยกส้นหนอ – ยกหนอ – ย่างหนอ – ลงหนอ – ถูกหนอ

         เมื่อญาณที่  ๑๑  เกิดขึ้นแล้ว  ให้เพิ่มบทเรียนได้อีก  ๑  บท  คือ  เดินจงกรมระยะที่  ๖  ดังนี้  คือ  ยกส้นหนอ  ยกหนอ  ย่างหนอ 
ลงหนอ  ถูกหนอ  กดหนอ

         ส่วนการนั่งนั้น  เพื่อเป็นการฝึกสติ  สมาธิ  ปัญญา  ให้แก่กล้าให้เข้มแข็ง  ให้เพิ่มถูกอีก  ๖  แห่ง  ถูกก้นย้อยข้างขวา  ถูกก้นย้อยข้างซ้าย  ถูกเข่าข้างขวา  ถูกเข่าข้างซ้าย  ถูกตาตุ่มขวา  ถูกตาตุ่มซ้าย

         เป็นอันได้ความว่า  บทเรียนนี้ครบบริบูรณ์แล้ว  ญาณที่  ๑๑  คือ  สังขารุเปกขาญาณ แก่กล้าพอสมควร พระอาจารย์ต้องเตือนสติผู้ปฏิบัติมิให้ประมาท  ให้ตั้งใจปฏิบัติอย่างเคร่งครัด  ฯลฯ  ใกล้จะได้ผลเต็มที่แล้ว

         ถ้าผู้ใดไม่ประมาท  ผู้นั้นจะได้ผลดีโดยไม่นานเลย  ประมาณ  ๒  ถึง  ๓  วัน  ก็จะเห็นผล  แต่หากขาดสติ  ประมาท  ขาดการปฏิบัติ
ติตต่อกัน  ผู้นั้นจะได้ผลช้า  อาจเลยไป  ๕  ถึง  ๑๐  วันก็ได้  อาจจะไม่ได้ผลเต็มที่ก็เป็นได้ 

         ดังนั้น  ผู้ปฏิบัติจึงควรระมัดระวังให้มากที่สุดเท่าที่จะระวังได้  จนกระทั่งชีวิตก็ยอมสละได้

อธิษฐาน

         วันแรก  ให้เดินจงกรมระยะที่  ๑- ๖  แล้วนั่งขัดสมาธิ  อธิษฐานว่า  “ธรรมวิเศษเบื้องสูงที่เกิดขึ้นแล้วขออย่าได้เกิดอีก  ธรรมวิเศษเบื้องสูงที่ยังไม่เกิด  ขอจงบังเกิดขึ้นแก่ข้าพเจ้าภายใน  ๒๔  ชั่วโมงนี้เถิด”

         วันที่  ๒  ให้เดินจงกรมระยะที่  ๑ – ๖  แล้วนั่งขัดสมาธิ  อธิษฐานว่า  “ภายใน  ๒๔  ชั่วโมงนี้  ขอความเกิด  ดับ  เกิดขึ้นแก่ข้าพเจ้ามากๆ”

         วันที่  ๓  ให้เดินจงกรมระยะที่  ๑ – ๖  แล้วนั่งขัดสมาธิ  อธิษฐานว่า  “ภายในชั่วโมงนี้  ขอให้ความเกิด  ดับ  เกิดขึ้นแก่ข้าพเจ้ามากๆ”  อธิษฐานทุกๆ ชั่วโมง

         วันที่  ๔  ให้เดินจงกรมระยะที่  ๑ – ๖  แล้วนั่งขัดสมาธิ  อธิษฐานว่า  “ภายใน  ๓๐  นาทีนี้  ขอให้ความเกิด  ดับ  เกิดขึ้นแก่ข้าพเจ้ามากๆ”  กำหนดพอง – ยุบ  อธิษฐานทุกๆ ๓๐  นาที

         วันที่  ๕  ให้เดินจงกรมระยะที่  ๑ – ๖  แล้วนั่งขัดสมาธิ  อธิษฐานว่า  “ภายใน  ๑๕ – ๑๐ – ๕  นาทีนี้  ขอให้ความเกิด  ดับ  เกิดขึ้นแก่ข้าพเจ้ามากๆ”  นั่งกำหนดไปจนครบ  ๑๕  นาที  แล้วอธิษฐาน  ๑๐ – ๕  นาที  เป็นลำดับไป

         วันที่  ๖  ให้เดินจงกรมระยะที่  ๑ – ๖  แล้วนั่งขัดสมาธิ  อธิษฐานว่า  “สาธุ  ขอให้สมาธิจิตของข้าพเจ้าดับสนิทแน่นิ่งไป  ๕  นาที  เป็นอย่างน้อย”  แล้วกำหนด  พองหนอ  ยุบหนอ  ต่อไป  บทนี้ต้องเดินนาน  นั่งนานจึงจะได้ผลดี  เพราะต้องการสมาธิให้เป็นพิเศษกว่าธรรมดา

         ถ้าจิตสงบได้  ๕  นาที  ตามที่อธิษฐานไว้  ให้อธิษฐานเพิ่มเป็น  ๑๐ – ๒๐ – ๓๐  นาที  จนถึง  ๑  ชั่วโมง  อธิษฐานเพิ่มเป็น  ๒ – ๓ – ๖ – ๑๒ – ๒๔  ชั่วโมง  ตามลำดับ  สุดแท้แต่ความขยัน  อดทน  และความเป็นผู้มีสมาธิดี  เพราะบุญกุศล  วาสนา  บารมีของแต่ละบุคคลบำเพ็ญมาไม่เหมือนกัน

         การปฏิบัติธรรมเป็นเรื่องสงบ  ไม่ใช่เรื่องยุ่งยาก  ไม่ใช่เรื่องวุ่นวาย  เย็นใจตลอดเวลา  การเจริญวิปัสสนาเป็นการปฏิบัติธรรมขั้นสูงสุดในทางพระพุทธศาสนา  เป็นทางสายเอก  เป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา  เป็นการปฏิบัติเพื่อให้พ้นไปจากกิเลสและกองทุกข์  ถึงสันติสุขอย่างแท้จริง  ผู้ที่จะซาบซึ้งและเห็นความมหัศจรรย์ของพระพุทธศาสนาก็มีอยู่ทางเดียวเท่านั้น คือ“การเจริญวิปัสสนากรรมฐาน”